วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คุยกับครู
ฉบับที่ 2 : วันที่ 2 ธันวาคม 2553

คุณครูที่เคารพทุกท่าน
                                081-8016072 คือเบอร์โทร.ที่ผมใช้อยู่ มีธุระปะปังก็บอกเล่าเก้าสิบไปนะครับ มีสื่อ/เครื่องมือเหล่านี้อยู่พยายามใช้ให้เป็นประโยชน์จะได้ประหยัดเวลาและน้ำมันรถ ไม่ต้องไปกังวลว่าถ้าใช้โทรศัพท์ติดต่อกับผมแล้วจะถูกกาลเทศะหรือเปล่าหนอ?   แม้ว่าผมจะเป็นคนพบง่าย แต่หาตัวยากก็ตาม รับประกันซ่อมฟรีได้ว่า   ยินดีรับโทรศัพท์จากพวกเราตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ 

อาชีพครูเป็นอาชีพที่สร้างบุญสร้างกุศล กล่าวคือ เป็นอาชีพที่ทำประโยชน์แก่คนอื่น เพื่อให้คนอื่นได้ดิบได้ดี  ซึ่งมีเพียงไม่กี่อาชีพที่จะทำเช่นนี้ได้ แต่ครูอย่างพวกเราต่างลำบากตรากตรำกรำงานหนัก  จึงมีความเครียดมากกว่าอาชีพอื่น พอเครียดมากร่างกายก็หลั่งสารพิษมาทำลายเซลล์ต่าง ๆ กลายเป็นเนื้อร้ายและมะเร็งในที่สุด  พวกเราเห็นทีจะต้องพยายามคิดเชิงบวกให้มากที่สุด  ทำความเข้าใจเด็กและปัญหาที่มีอยู่   แล้วทำใจยอมรับว่าบางทีเราก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ดีครบ 100%  โลกกลมๆใบนี้มิได้สวยสดงดงามไปทั้งหมด ได้บ้างเสียบ้างช่างปะไร ขอเพียงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็แล้วกัน  ถ้าคิดเช่นนี้ได้สมองของเราจะได้ไม่รกรุงรัง ไม่อัดแน่นไปด้วยของเสีย  มีความสบายอกสบายใจ  โอกาสที่โรคภัยไข้เจ็บจะมาระรานก็น้อยลง
                                มีงานสำคัญที่จะขอทำความเข้าใจกับพวกเราในด้านวิชาการ สัก 3 เรื่อง คือ
1.       หลักสูตร
2.       การประกันคุณภาพการศึกษา
3.       จุดเน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
                            ทั้ง 3 เรื่องนี้ผมได้คุยกับทีมงาน ศน. ซึ่งถือเป็นฝ่ายบุ๋นและกุนซือของผมให้เป็นที่เข้าใจพอสังเขปแล้ว ฉบับนี้ขอสาธยายเรื่องที่ 1 (หลักสูตร) ก่อน
                                เรื่องที่ 1 : หลักสูตร มี 3 ประเด็นหลัก คือ
                                                1.1 หลักสูตรสถานศึกษา  ขอเพียงได้เห็นโรงเรียนของเรามีหลักสูตรที่เป็นตัวตนของโรงเรียนเองไว้ใช้ มีการนำไปใช้จริง  มีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ ก็น่าจะพอไปวัดไปวาตอนเช้าๆได้แล้ว
                                                1.2 การจัดการเรียนรู้   ขอเพียงคุณครูมีการวางแผนการจัดการเรียนรู้ให้เด็กได้เรียนรู้เป็น กระบวนการ (คิด-ทำ-นำเสนอ) ก็น่าจะใช้ได้แล้ว   กระบวนการ จะก่อให้เกิดการปฏิบัติ การปฏิบัติทำให้เกิดการคิด  การทำงาน  มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน  แถมได้กำไรในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมตามมาอีก การจัดการเรียนรู้ที่ดีต้องรอบด้านและหลากหลายวิธีการ ไม่มุ่งเน้นเพียงให้เด็กทำแต่แบบฝึกหัด  
                                          เรื่องการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริงนี้เป็นเรื่องสำคัญ คุณครูเราทำได้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะทำกันขนาดไหนต่างหาก   ควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้ชัดเจนว่าสอนให้เด็กปลูกผัก หุงข้าว ทำกับข้าว
  
1.3 การวัดและประเมินผล    ขอเพียง วัด ให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง  ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ไม่ใช้วิธีการ Lift the clound (ยกเมฆ)จะได้ ประเมิน ได้ถูกต้อง แม่นยำว่าเด็กคนนี้ในเรื่องนี้เรื่องนั้นเขามีความคิดและฝีมือระดับใด ไม่มุ่งเน้นการเรียนรู้เพียงเพื่อตอบคำถามได้ หรือทำข้อสอบได้ นักวัดผลบอกว่าสมัยนี้ต้องปรับเปลี่ยนสไตล์จาก Assessment of  Learning ไปเป็น Assessment for Learning และ Assessment as Learning  ซึ่งหมายความว่าการประเมินต้องเป็นไป เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้  ถือเสมือนว่าการประเมินและการเรียนรู้เป็นเรื่องราวอันเดียวกัน ต้องทำเคียงคู่ไปด้วยกัน  ทำเป็นน้ำแยกสาย ไผ่แยกกอไม่ได้  เพราะการตอบคำถามได้ไม่เพียงพอและไม่สามารถทำให้คนโต้ลมฝนทนลมหนาวยืนระยะอยู่ในยุคนี้ได้  ถ้าปรับแนวคิดเป็นเช่นนี้ได้   ข้อสอบก็คงจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ/วิธีการ  และทุเลาลง   วิธีการประเมินก็คงจะต้องใช้ตาดู หูฟัง ลิ้นชิมรส กายสัมผัส เพื่อเก็บข้อมูลให้สมองกลั่นกรองและสังเคราะห์   จากนั้นค่อยส่งให้ปากคอมเม้นท์และมือจดบันทึกหรือสาธยายออกมาเป็น ผลการประเมิน  ที่มีความเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
                                สำหรับเรื่องที่ 2 และเรื่องที่ 3 ขอยกยอดไปฉบับต่อๆไปนะครับ
                                ปีงบประมาณ 2554  สพป.ของเราได้อัตราครูที่เกษียณก่อนกำหนด (เมื่อ 1 ตุลาคม 2553) คืนมาใน รอบแรก 52 ตำแหน่ง (100 %)  ได้พยายามจัดคืนให้โรงเรียนเดิม (แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์) เป็นหลัก โรงเรียนที่ขาดแคลนติดลบ 30% ขึ้นไป ต้องดูแลให้สภาพดังกล่าวหมดไปโดยจัดสรรอัตรามาให้เพื่อจะได้ติดลบลดลง   ส่วนรอบ 2  จะมีจัดสรรเพิ่มเติมมาให้อีกถ้าสพฐ.ได้ภาพรวมระดับประเทศแล้วส่องกล้องมองดูว่า สพป.ของเรายังมีสภาพการขาดแคลนสูงในระดับต้น ๆ แต่คงจะได้ไม่มากนัก   ตำแหน่งที่ได้มาทั้งหมดนี้ คงจะไปใช้ได้ราวๆ เดือนพฤษภาคม 2554  เพราะมีกระบวนการทั้งเยอะและยาว   โดยจะต้องกันไว้ 25% ของอัตราที่ได้มาทั้งหมด   เพื่อใช้สำหรับคัดเลือกพนักงานราชการและลูกจ้างประจำ ที่ทำหน้าที่ครูในการขยับฐานะตนเองไปเป็นครูผู้ช่วยอีกด้วย
                                สำหรับการย้ายครูผู้สอน ตำแหน่งว่างมี 20 ตำแหน่ง มีคุณครูที่สามารถย้ายได้ เพียง 8 ราย หลังจากนี้คงจะต้องบรรจุผู้สอบแข่งขันขึ้นบัญชีไว้ตามวิชาเอกที่โรงเรียนต้องการโดยเร็ว   มีข้อสังเกตว่าครูที่จบวิชาเอกการประถมศึกษาจะมีโอกาสย้ายได้น้อยกว่าวิชาที่เป็นวิชาหลัก   อีกวิชาเอกคือเอกบริหารการศึกษา  ไม่มีโรงเรียนใดเสนอความต้องการอยากได้  คงจะเสียววาบๆกันว่าโรงเรียนมีผู้บริหารอยู่แล้วขืนเสนอความต้องการครูผู้สอนวิชาเอกบริหารเข้าให้อีก  เดี๋ยวจะมาช่วยกันบริหารโรงเรียนจนเสียรูปมวยได้   แต่ถึงอย่างไรก็ตามคงจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้หายใจหายคอคล่องขึ้นภายหลัง 
                                ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน มีตำแหน่งว่าง 5 ตำแหน่ง สามารถย้ายลงได้ 2 ตำแหน่ง  เหลืออีก 3 ตำแหน่ง ไม่มีผู้ยื่นขอย้ายจะต้องแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกที่ขึ้นบัญชีไว้โดยเร็ว

                                เรื่องการย้ายมีประเด็นที่ขอเน้นย้ำคือ ความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษา ทั้งในแง่มุมของ การกำหนดความต้องการอัตรากำลัง (วิชาเอก)   การให้ความเห็นชอบและเสนอแนะบุคคลที่ขอย้ายมาดำรงตำแหน่งในโรงเรียนนั้น ๆ ของผู้บริหารและครู   เจตนารมณ์ที่สำคัญอันดับแรก คือ ต้องการ การมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ดังนั้นความเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องมีเพราะเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ทำ จะละเว้นไม่ทำไม่ได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็น การเสนอแนะ ต่อ อ.ก.ค.ศ.เขตทำให้ อ.ก.ค.ศ.เขตฯ มีข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจมากขึ้น จะเกิดความรอบคอบ ถูกต้องตรงประเด็น   การย้ายผู้บริหารและครูจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมากขึ้น  สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ย้ายแสดงว่ายังชดใช้หนี้กรรม ณ ที่ตรงนั้นไม่หมด  ขอให้อดทนทำคุณงามความดีต่อไปอย่าหยุดยั้ง  สักวันความดีย่อมส่งผล



                                กระทรวงศึกษาธิการของเรา ออกประกาศให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนในระดับจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ท่านศิวชาติ   ศิริเลิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนพลูหลวงวิทยา  กำลังตระเวนบกตระเวนน้ำประสานมวลมิตรพี่น้องจัดตั้ง สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโรงเรียนเอกชนจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจของการศึกษาเอกชนให้บรรเจิด   ทุกอย่างในยุคนี้หยุดไม่ได้  ผู้ใดหยุดจะเป็นผู้ถูกหยุด  ณ เวลานี้  โรงเรียนเอกชนฟิตเปรี๊ยะ แน่นปั๋ง แข็งเป๊ก
             สัมปทานหมด....ท้ายนี้ ขอฝากสุภาษิตของคนแคระ นอนที่ไหนไม่สำคัญ สำคัญว่านอนกับใคร(จะทำอะไรกับใครที่ไหนอย่างไร  ศึกษาข้อมูลให้ดีๆก่อน) .....  สวัสดี.

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คุยกับครู
ฉบับที่ 1/2553 :23 พ.ย.53

คุณครูที่เคารพทุกท่าน
            คุยกับครู เป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผมกับชาวโรงเรียนในลักษณะเคียงข้างสร้างสรรค์งานการศึกษาขั้นพื้นฐานในซีกของก่อนประถมศึกษา  ประถมศึกษา ขยายโอกาสและการศึกษาเอกชนให้ก้าวหน้างดงาม  จะพยายามคลอดให้สม่ำเสมอคงเส้นคงวาทุกๆสัปดาห์
                ฉบับนี้เป็นฉบับปฐมฤกษ์  ขอนำร่องด้วยการเลียบๆเคียงๆให้รู้จักมักจี่กันเบาะๆก่อน  ผมมารายงานตัวแบบลุกลี้ลุกลนเมื่อ 3 พ.ย.53  ด้วยเงื่อนไขส่วนตัวที่ต้องทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน  เป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่าคนเราถ้าต้องการเติบโตต้องมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา  ต้องทำงานแข่งกับเวลา  ใช้เวลาให้คุ้มค่า  ไม่นอนหายใจปล่อยเวลาและคาร์บอนไดออกไซด์ทิ้งไปเปล่าๆ
                ผมเคยเป็นครูน้อย , ศึกษานิเทศก์ , อาจารย์ใหญ่, หน.ปก., หน.ปอ., ผช.ผอ.ปจ.,รอง ผอ.สพท.และรอง ผอ.สพป.   รักจะเดินในถนนสายนี้เมื่อเดินยังไม่สุดสะพานจะหยุดนั่งก็ไม่ได้  เพียรสอบ ผอ.เขตทั้งหมด 5 ครั้ง   ได้ข้อคิดสำคัญว่า สิ่งที่เราอยากได้มักจะไม่ค่อยมีใครให้  ต้องดิ้นรนขวนขวายแสวงหาอนาคต  ไม่รอราชรถมาเกย...ไม่มีฝันใดเป็นจริงหากคนหยุดนิ่งเฉยชา  ไม่มีฝันใดได้มาหากคนไม่กล้าท้าทาย  ท่านชลอ กองสุทธิ์ใจ อดีตเลขาธิการ กปช.บอกว่าคนจะเติบโตต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ พรสวรรค์บวกพรแสวงและแรงบุญ  ทั้ง 3 อย่างคงจะมาประจวบเหมาะกับผมเข้าพอดี  จึงได้มาทำงานร่วมกับพวกเรา  การเติบโตครั้งนี้ไม่มีการเบียดเบียนใคร
                ผมมีเวลาทำงานอีก 4 ปี   ของอะไรที่ได้มายากย่อมมีคุณค่า  จะพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดีๆ  ไม่ยอมเสียตัวให้ใครง่ายๆ   หมายมั่นปั้นมือเต็มที่ว่าจะมาร่วมทำงานกับพวกเราฉันท์พี่น้องในบทบาทสำคัญคือ การประสาน  ส่งเสริมและสนับสนุน เทคนิคสำคัญกว่าขนาดที่จะนำมาใช้จะเน้นการเดินจับถูกมากกว่าการจับผิด  ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันดังขอนไม้ลอยน้ำให้กบเขียดได้ใช้เป็นที่กระโดดโลดเต้นดังนิทาน   เป็นต้นไม้มีร่มเงาให้นกกาได้อาศัยแม้บางครั้งจะถูกขี้รดบ้างก็ไม่เป็นไร  จะไม่ทำตนเป็นนกกระสาที่คอยล่าเหยื่อทำให้พวกเราให้พวกเดือดร้อนระคายเคือง   จะได้ทำงานกับเด็กและชาวบ้านด้วยความโล่งอกโล่งใจ
            ผมมีความมุ่งมาดปรารถนาจากพวกเราชนิดสุดขั้ว  คือ
                1.ผู้บริหาร  (ผู้บริหารสถานศึกษา  ผู้รักษาราชการแทน) 
บริหารดีๆ ทำงานดูตาม้าตาเรือ เป็นผู้นำลูกน้องไปในทางที่ดีงาม  อำนวยความสะดวกให้คุณครูสอนเด็กๆด้วยความสุขใจสุขกาย  เป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจกับลูกน้อง  สนับสนุนลูกน้องให้ก้าวหน้า  การสนับสนุนลูกน้องเป็นสิ่งสำคัญ  เป็นนายถ้าไม่สนับสนุนลูกน้องจะเอาบารมีมาจากไหน สร้างความสัมพันธ์อันดีและเป็นผู้นำทางความคิดร่วมกับชาวบ้าน   เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวพ้นในเรื่องของตนเอง กล่าวคือจะทำอะไรคิดถึงคนอื่นก่อนไม่วนเวียนอยู่แต่ในเรื่องของตนเอง  ควรคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่เด็ก ชาวบ้านและครูก่อน
                2.คุณครู   (ครู  พนักงานราชการตำแหน่งครู   ครูอัตราจ้าง)
                เป็น ผู้มีวิสัยทัศน์เชิงคุณธรรม เห็นเด็กแล้วเกิดความรัก คิดเมตตาสงสาร อยากจะช่วยเหลือ  ให้ได้ดิบได้ดี ขยันหมั่นเพียรในการพัฒนาตนเอง ขยันสอนให้เด็ก คิด ทำ นำเสนอด้วยความเอาใจใส่ มีผลการวิจัยยืนยันว่าความเอาใจใส่ของคุณครูเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าคุณวุฒิของคุณครูอย่างลิบลับ คุณครูรักลูกคนอื่นเหมือนลูกของเราให้ลูกคนอื่นกินดีๆเหมือนลูกของเรา มิใช่ ลูกคนอื่นกินอะไรก็ได้
            3.ทีมสนับสนุน  (เจ้าหน้าที่ธุรการ  พนักงานบริการ  ลูกจ้าง)
                เป็นกองหนุนชั้นดี  แบ่งเบาภาระและผ่อนแรงผู้บริหารและครู  ให้มีความคิดดีๆและเวลามากพอในการทำงานจนเกิดผลดี   ให้สมใจชาวบ้านซึ่งไว้วางใจส่งลูกหลานมาเรียนกับเรา
                4.เด็ก(นักเรียน)
                มี วิชาการ (ความรู้ความสามารถพื้นฐานทางวิชาการที่ใช้ได้   มีความคิดที่เข้าท่าเข้าทาง)   มี วิชาคน(ประพฤติตนเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมและอยู่ร่วมกันกับคนอื่นได้) และมี วิชาชีวิต (แก้ปัญหา  ทำมาหากินและพึ่งตนเองได้)  ไม่เป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
                ผมลองสรุปแนวคิดเป็นแผนภูมิที่ดูง่ายๆสบายตาดังที่ยกมาให้เห็นนี้  เวลาอออกเยี่ยมเยียนพวกเราในพื้นที่จะพยายามเก็บข้อมูลและภาพถ่ายดีๆ มาบอกเล่าเก้าสิบให้ได้ยินและยลร่วมกัน   พวกเราคงจะต้องช่วยกันค้นหาหรือสร้างสรรค์ผลงานดีๆให้เกิดขึ้นที่โรงเรียนมากๆ เพื่อจะได้มาชม  ชอบและเชียร์กันให้เอิกเกริก   ของดีที่ว่านี้เป็นได้สารพัดไม่จำกัดประเภท รูปแบบและวิธีการใดๆ     แต่จะเน้นหนักในเรื่องราวที่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็กให้มากๆ
            ช่วงนี้มีภารกิจสำคัญที่ดักรออยู่ข้างหน้าคืองานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคเหนือ  ครั้งที่ 60 ประจำปีการศึกษา 2553   15 – 17 ธันวาคม  2553 ที่เชียงราย  งานนี้จัดเพื่อโชว์ความคิดและฝีมือของเด็กโดยเฉพาะ  ส่วนของครูและอื่นๆเป็นเพียงอาหารเสริมให้งานดูดีขึ้น ของเราคัดเลือกในระดับเขตพื้นที่ไปหมาดๆเรียบร้อยแล้ว  ได้รับความกรุณาและความร่วมมือสนับสนุนจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด  ชาวตากและพวกเราเป็นอย่างดี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้  คุณครูของเราหลายท่านเสนอแนะว่า การจัดงานปีนี้จัดได้ดี ควรจะจัดกันทุกเดือน  นับเป็นข้อเสนอแนะที่เฉียบคมมาก   ก่อนจะไปเชิดฉิ่งที่เชียงรายก็ขอให้คุณครูเตรียมความพร้อมเด็กให้ดีๆ ควรพาเด็กไปรู้จักมักจี่ให้คุ้นกับสนามจริงก่อนวันประลองสัก 1 วัน เด็กจะได้ไม่มีอาการตื่นสนาม  ไม่ควรกระหืดกระหอบไปรายงานตัวก่อนลงสนามแบบฉุกละหุก  สมาธิจะเสียไปโดยใช่เหตุ   ยามลงสู่สนามฝีมือมีความแน่อยู่แล้วต้องบวกใจที่มีความนิ่งไปด้วยจึงจะคิดอ่านทำการใหญ่ได้ ..สุดท้าย...ขอให้ มั่งมี มั่งคั่ง มั่นคง.. ยิ่งใหญ่ ยิ่งยง คงมั่น..ยิ่งยศ ยิ่งเกียรติ สารพัน..ยิ่งวัน ยิ่งสุข สราญเทอญ...  สวัสดี.